[รีวิวภาพยนตร์] Hope ขอให้แสงสว่างส่องมาถึงฉันในวันที่มืดมน


HOPE สะท้อนถึงความไม่ยุติธรรมของโลกใบนี้ที่เกิดขึ้นกับเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง แม้แต่กฎหมายก็ไม่สามารถลงโทษผู้กระทำได้อย่างสาสม ในวัยที่ควรจะเบ่งบานเฉกเช่นดอกไม้ที่ถูกดูแลมาอย่างดี กลับกลายเป็นดอกไม้ที่เหี่ยวเฉาเสมือนอยู่ในความมืดมิดตลอดกาล

*Spoiler Alert*
อาจมีเนื้อหาสปอยล์นะคะ


หนึ่งในภาพยนตร์ชื่อดังของปี 2013 ความยาว 2 ชม.ที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง เมื่อวันหนึ่งเด็กผู้หญิงอายุ 8 ขวบ กลับตกเป็นเหยื่อของอาชญากรการทารุณกรรมทางเพศที่อ้างว่าตัวเองเมา จากเด็กผู้หญิงที่โอบล้อมไปด้วยความรักและความสุข ต้องพลิกเป็นความหวาดระแวงและความมืดมนไปตลอดชีวิต โดยหนังเรื่องนี้สามารถสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในยุคปัจจุบัน ทั้งในด้านสื่อที่มีอิทธิพลต่อสังคม ด้านกฎหมายที่ยังไม่เคร่งครัดมากพอ เมื่อเทียบเท่ากับความเจ็บปวดของเหยื่อที่ต้องพบเจอไปตลอดชีวิตนั้น มันเทียบกันไม่ได้แม้แต่เสี้ยวนึงเลย

ตัวอย่างภาพยนตร์


“ทำไมเหยื่อส่วนใหญ่ถึงต้องเป็นเพศหญิง”

ถ้าในยุคนี้ ไม่ว่าจะเพศไหนก็ตามสามารถตกเป็นเหยื่อของการถูกล่วงละเมิดทางเพศได้เช่นกัน แต่ถ้าย้อนกลับไปในยุคที่ยังไม่ได้มีการพัฒนาทางด้านกฎหมายและด้านความปลอดภัยมากขนาดนี้ อาชญากรมักจะเป็นผู้ชาย และอิทธิพลของปิตาธิปไตยที่ปลูกฝังกันมาแบบหยั่งรากลึกเลย คือการคิดว่าผู้หญิงเป็นเพศแม่ ตัวเล็กบอบบาง ไม่มีทางสู้ เป็นเพศที่ถูกมองว่าด้อยกว่าในหลายๆ ด้านเสมอ และเมื่อเป็นเด็กด้วยแล้วยิ่งเข้าทางเหล่าอาชญากรเข้าไปใหญ่ เพราะเด็กตัวเล็กคนนึงไม่สามารถต่อสู้หรือขัดคำสั่งของผู้ใหญ่ได้ และเมื่อถูกกระทำแล้วก็ไม่กล้าแม้แต่จะบอกคนใกล้ตัวหรือเล่าให้ใครฟัง เนื่องจากโดนบังคับขู่เข็ญต่างๆ นาๆ ทั้งนี้ไม่ใช่แค่เพศหญิงทั่วไปและเด็กเท่านั้น กลุ่มคนชราก็สามารถตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์นี้ได้เช่นกัน และอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ครั้งเดียว หากอาชญากรไม่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมหรือขาดความเป็นมนุษย์ก็จะมีครั้งที่สองที่สามต่อไปเรื่อยๆ


“เหตุใดเหยื่อที่ถูกกระทำต้องเป็นฝ่ายโทษตัวเองเสมอ”

แน่นอนว่าประเด็นนี้ต้องมีการหยิบยกขึ้นมาพูด เพราะสื่อมีอิทธิพลอย่างมากต่อคนในสังคม เช่นข่าวสารทางหน้าจอโทรทัศน์หรือไม่ก็ตามโซเชียลมีเดีย ทั้งยังรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของตัวผู้เคราะห์ร้าย สิ่งเหล่านั้นบางครั้งไม่ได้มาจากความเต็มใจของเหยื่อและครอบครัว และคนในสังคมที่เป็นผู้รับสารมักจะพูดกันไปต่างๆ นาๆ เหมือนเป็นการตอกย้ำผู้ที่พบเจอเหตุการณ์เหล่านั้นอยู่กลายๆ ไม่ว่าจะการวิจารณ์เหยื่อที่ไม่ระวังตัวให้ดี การถูกคนรอบข้างมองด้วยสายตาที่ไม่เหมือนเดิม คนที่วิจารณ์อาจจะไม่รู้ว่ามันไปกระทบถึงจิตใจของเหยื่อมากขนาดไหน เพราะสิ่งเหล่านี้เหยื่อจึงเก็บมาตอกย้ำความรู้สึกตัวเองและคอยโทษตัวเองตลอดเวลา มันเป็นเพราะเราไม่ระวังตัวมากพอหรอ? เราแต่งตัวไม่มิดชิดหรอ? ทั้งที่เรื่องแบบนี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นทั้งนั้น อาชญากรถ้าจะไร้สามัญสำนึกไม่ว่าเราจะแต่งตัวมิดชิด ระวังตัวมากแค่ไหนยังไงก็ลงมือทำอยู่ดี ฉะนั้นสิ่งที่คนนอกอย่างพวกเราควรจะทำได้ คือการให้พื้นที่ความเป็นส่วนตัวกับเหยื่อและครอบครัวมากขึ้น การวิจารณ์ในแง่ลบไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้นเลยแม้แต่น้อย การปฏิบัติเหมือนคนทั่วไปหรือปฏิบัติตนกับเหยื่อด้วยความไว้ใจเราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่เหยื่อต้องการมากที่สุด


“บาดแผลที่ฝังในใจของเหยื่อและครอบครัว”

ความเจ็บปวดของเหยื่ออาจจะมากกว่าคนในครอบครัวด้วยความเป็นผู้ที่ประสบพบเจอกับเหตุการณ์นั้นโดยตรง เราไม่สามารถจะประเมินได้เลยว่าพวกเขาเจ็บปวดมากถึงขนาดไหน แต่สิ่งเหล่านี้มันจะฝังใจเหยื่อและคนในครอบครัวไปจนตาย ถ้าถามว่าครอบครัวเจ็บปวดอย่างไร ก็คงต้องตอบว่าเพราะคนเป็นพ่อแม่ที่รักลูกตัวเองมากๆ เลี้ยงดูมาอย่างดี ต้องมาเห็นลูกทนทุกข์ทรมานกับการกระทำที่ขาดการยั้งคิดของอาชญากร สิ่งที่แย่ที่สุดคือการที่อาชญากรยังลอยนวลและมีพื้นที่อยู่ในสังคม มันยิ่งเต็มไปด้วยความหวาดระแวงที่มีต่อคนรอบข้างหรือไม่ก็เพศตรงข้าม ทำให้ไม่สามารถกลับไปชีวิตได้อย่างปกติ และคงยากที่จะให้กลับไปมองโลกในแง่ดีเหมือนเดิม ต่อให้ในอนาคตต้องก้าวต่อไปอีกไกลแค่ไหน แต่เรื่องในวันนั้นมันก็ยังคงติดอยู่ในใจเราไปเรื่อยๆ และตัวเหยื่อเองก็คงมีความรู้สึกที่อยากจะย้อนเวลากลับไปแก้ไขช่วงเวลานั้นอยู่เสมอ


“สุดท้ายกฎหมา(ย)ก็เป็นแค่หนังสือเล่มหนึ่ง”

ในเรื่องมีให้เห็นอย่างชัดเจนกับคำให้การของอาชญากรว่าตนดื่มแอลกอฮอล์จึงจำอะไรไม่ได้ อีกทั้งยังอ้างว่าตนเองคือผู้บริสุทธ์ แต่ผลตัดสินคือการจำคุก 12 ปี และลดโทษเพียงเพราะกระทำลงไปด้วยความมึนเมา ถ้าเป็นใครฟังก็ต้องไม่พอใจอย่างแน่นอน เด็ก 8 ขวบคนนึงต้องแลกความสุขเป็นความเจ็บปวดจนถึงขั้นพิการ แต่ผู้กระทำกลับใช้ชีวิตอยู่ในกรงขังเพียงแค่ 12 ปี เมื่อตัวอาชญากรออกมาเด็กคนนั้นจะอายุแค่เท่าไหร่กันเชียว และเราไม่สามารถจะไปอ่านใจใครออกได้ว่าคนที่เคยก่อเรื่องแล้วจะไม่ก่อเรื่องอีก วันหนึ่งเด็กผู้หญิงคนนั้นก็ต้องใช้ชีวิตด้วยตัวเองและในวันนั้นอาชญากรก็กลับออกมาเป็นอิสระ จริงอยู่ที่กฎหมายคือสิ่งที่ปกป้องสิทธิของพวกเรา แต่หลายครั้งกฎหมายก็กลายเป็นเหมือนมีดที่กลับมาแทงเราได้เช่นกัน ไม่มีสิ่งไหนมารับรองความปลอดภัยของเราได้ แม้แต่ยุคนี้สมัยนี้ กฎหมายก็ไม่ใช่สิ่งที่รับรองว่าจะทำให้เราปลอดภัย 100% และการหาทางออกของอาชญากรรมยังไม่เด็ดขาดพอจะเอาผิดเหล่าอาชญากรนี้ได้ จึงทำให้คนเหล่านี้สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยเงินแค่ไม่กี่ก้อน แต่คนที่ถูกกระทำต้องใช้ชีวิตบนความหวาดระแวง ความรู้สึกผิดกับตัวเองไปตลอดชีวิต กฎหมายจึงไร้ซึ่งความเด็ดขาด กลายเป็นเพียงหนังสือเปล่าๆ เล่มหนึ่งที่เปิดดูหน้าว่างๆ แล้วก็เก็บกลับเข้าที่เดิม เพราะเราก็แค่เสียเงินซื้อมันมาแต่กลับได้ไม่ประโยชน์อะไรจากหนังสือเล่มนั้นเลย

“กรณีศึกษา Sexual Abuser ในประเทศไทย”

จะบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนทุกแง่มุมได้ตรงกับสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันมากๆ แต่ของประเทศไทยจะแย่กว่าตรงที่สื่อสังคมกลับให้พื้นที่หรือสปอร์ตไลท์กับตัวอาชญากรจนมีชื่อเสียงเงินทอง ส่วนตัวเหยื่อและครอบครัวต้องทนเห็นคนที่ทำชั่วกับตัวเองไว้ไปได้ดี สิ่งเหล่านั้นควรเกิดขึ้นแล้วจริงๆ หรือ การให้อภัยและให้ที่ยืนในสังคมกับตัวอาชญากรมักมาจากคนนอกที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง แล้วทำไมคุณถึงไปมีสิทธิ์ให้อภัยคนที่ทารุณกรรมเด็ก ในเมื่อครอบครัวของผู้เสียหายไม่ได้เอ่ยปากแม้แต่จะให้อภัยเรื่องเหล่านี้ ในฐานะคนนอกเราควรจพส่งเสียงที่มีช่วยกันผลักดันให้ตัวคนร้ายให้รับโทษอย่างเหมาะสมกับความผิดมากกว่าจะไปสร้างบาดแผลในใจให้ใครเพิ่ม การล่วงละเมิดทางเพศไม่ว่าทางใดก็ตามจะไม่หมดไปง่ายๆ ถ้าความปลอดภัยภายในประเทศยังน้อยกว่าค่าครองชีพ และความยุติธรรมที่เรียกว่ากฎหมายยังคงแพ้เงินอยู่ดี


“การใช้ชีวิตที่เหลือให้มีความสุขเพื่อสิ่งที่เรารัก”

หลังจากที่ อิมโซวอน (อีเร) ตั้งคำถามว่าตนเกิดมาทำไม ไม่มีใครให้คำตอบนั้นกับโซวอนได้ แต่แค่คำถามของผู้เชี่ยวชาญที่ว่า ‘ถ้าออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว หนูอยากทำอะไร’ กลับเป็นคำถามที่จุดประกายความคิดของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง เธอก็แค่อยากกลับไปเรียนหนังสือเหมือนเดิม อยากเล่นกับเพื่อน และอยากอุ้มน้องที่กำลังจะเกิดในอีกไม่เดือนข้างหน้า มันทำให้เรารู้ว่าเหยื่อไม่ต้องการการถูกปฏิบัติแบบที่พิเศษกว่าคนอื่นอะไรทั้งนั้น ตัวของเธอแค่อยากกลับไปใช้ชีวิตที่มีความสุขบนชีวิตธรรมดาๆ แบบที่เคยเป็น เพราะในเมื่อมันแก้ไขอะไรไม่ได้แล้วเราก็ต้องอดทนแล้วก็เดินต่อไป แม้โซวอนจะหาคำตอบไม่ได้ว่าตัวเองเกิดมาทำไม แต่โซวอนก็ขอบคุณน้องของตัวเองที่เกิดมาบนโลกใบนี้ ที่ไม่ทำให้ตัวของโซวอนต้องโดดเดี่ยว และทำให้โซวอนมั่นใจว่าจะเป็นพี่สาวที่แข็งแกร่งคนหนึ่งที่จะคอยปกป้องน้องในวันที่อ่อนแอได้ บางคนอดทนไม่ได้กับเหตุการณ์ในอดีตจนไม่รู้จะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร แบบนั้นมันก็ไม่ผิดที่ไม่อยากอดทน แต่บางคนก็อดทนใช้ชีวิตให้มีความสุขต่อไปเพื่อสิ่งที่ตัวเองรักและคอยอยู่ข้างๆ สิ่งนั้นไปนานๆ เพราะสุดท้ายแล้วมันไม่ใช่ความผิดของผู้ถูกกระทำ


การพยายามจะมีความสุขของคนเรามันไม่เหมือนกัน ต่างคนต่างประสบการณ์ต่างแพชชั่น แต่เราสามารถให้กำลังใจกันและกันได้มากกว่าจะไปซ้ำเติม และการตั้งคำถามกับเหยื่อควรหมดไปได้แล้ว ถ้าการเมืองดีเราจะมีความปลอดภัยมากขึ้นและสามารถลดปัญหาเหล่านั้นได้ คุณอาจจะไม่ต้องไปเข้าใจความรู้สึกของเหยื่อแบบลึกซึ้งขนาดนั้น แต่คนเราคิดได้ว่าอะไรถูกอะไรผิดเราจะไม่ไปโทษที่ตัวเหยื่อเลย อย่าลืมว่าการทารุณกรรมทางเพศมักเกิดขึ้นโดยที่อีกฝ่ายไม่ได้รู้ตัวมาก่อน มันไม่มีใครอยากให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นตั้งแต่แรก และอยากให้คนที่มีชุดความคิดว่าผู้หญิงไม่มีทางสู้ ลองคิดทบทวนใหม่อีกที เพราะในยุคนี้ไม่มีที่ให้ปิตาธิปไตยยืนอีกต่อไปแล้ว ทุกเพศคือคนเท่ากัน มีความเสี่ยงเหมือนๆ กัน และมีสิทธิ์ที่จะมีความสุขเหมือนกัน

OST ชวนเรียกน้ำตาจากภาพยนตร์ HOPE

ขอบคุณทุกคนที่อ่านมาจนถึงตรงนี้เลยนะคะ ผิดพลาดตรงไหนต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้เลย เราจะพยายามปรับแก้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะอยู่ในจุดที่เหมาะสม และสุดท้ายเราอยากจะบอกว่า

"ขอให้อิมโซวอนและผู้ที่เคยพบเจอกับเหตุการณ์เหล่านี้ได้มีชีวิตที่เบ่งบานราวกับดอกไม้ ขอให้ปราศจากความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ขอให้เป็นชีวิตธรรมดาที่เต็มไปด้วยความรักและความสุขนะ"

0/แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า